วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553

นวัตกรรมเพื่อการเสริมสร้างการรู้สารสนเทศ

1.หลักการ NET


1) Networking (N) ได้แก่ เครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มบุคคลและองค์กร ซึ่งรวมถึง โรงเรียน ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้รู้ ภูมิปัญญา สถานประกอบการ หน่วยงานต่างๆที่มีอยู่ในชุมชนตลอดจนห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ฯลฯ เพื่อดึงทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาร่วมส่งเสริมการรู้สารสนเทศ โดยเครือข่ายการเรียนรู้ดังกล่าวควรเน้นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสำคัญ


เครือข่ายการเรียนรู้ หมายถึง การประสานแหล่งความรู้และข้อมูลข่าวสารการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติและการปฏิบัติงานอย่างสอดคล้อง เชื่อมโยงกันทั้งระหว่างงานที่รับผิดชอบ การจัดการศึกษาในและนอกระบบโรงเรียนและระหว่างหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับต่างๆ ตลอดจนระบบการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสร้างแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดและกระจายความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่องตลอดชีวิตตามความต้องการของบุคคลและชุมชน รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ที่เป็นกลุ่มเครือข่ายสารสนเทศ โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นเครื่องมือหลักในการสัมพันธ์และเชื่อมโยงคน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เป็นเครือข่ายที่มีบทบาทสูงในภาคสังคมเมือง ธุรกิจ และสถาบันการศึกษาเครือข่ายสารสนเทศเป็น การเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน จากเครือข่ายขนาดเล็กเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ (Internetworking) เพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในลักษณะของเครือข่าย การติดต่อสื่อสารข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เชื่อมโยงแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั่วโลกเข้าด้วยกัน เครือข่ายสารสนเทศประกอบด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์และสื่อการเรียน โดยเครือข่ายสารสนเทศใน ปัจจุบันจะเน้นไปที่เครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นหลัก


2) Edutainment (E) ได้แก่ การนำกิจกรรมการเรียนรู้หลายหลากรูปแบบที่ประกอบด้วย Learn + Do + Pleasure ภายใต้การเรียนรู้ที่เป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัยที่ผสมผสานข้อมูลข่าวสาร และความรู้ในด้านต่างๆ อันเอื้อต่อการพัฒนาการรู้สารสนเทศ อาทิ การวางแผนครอบครัว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เข้ากับความบันเทิง โดยมีเจตนาเป้าหมายชัดเจน และนำเสนอผ่านสื่อบันเทิงรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ให้บุคคลได้รับความรู้ มีทัศนคติ และพฤติกรรมไปในทางที่พึงประสงค์ของสังคม และในขณะเดียวกัน ก็ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการบริโภคข่าวสารดังกล่าว


Edutainment เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษร่วมสมัย โดยเกิดจากการสนธิคำศัพท์ 2 คำ คือ Education ซึ่งหมายถึงสาระความรู้ กับ Entertainment ซึ่งหมายถึงความบันเทิง เป็นศัพท์ใหม่ว่า Edutainment โดยอาจแปลเป็นภาษาไทยว่า สาระบันเทิง โดยรวมคำว่า ข่าวสาร กับ ความบันเทิง การผสมผสานข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และ ความบันเทิงเข้าด้วยกันโดยเจตนา จึงเป็นการเปลี่ยนมุมมองของบุคคล จากเดิมที่มักแบ่งแยกความคิดเรื่องความรู้และความบันเทิงออกจากกัน มาสู่ความคิดที่ว่าบุคคลสามารถบริโภคข่าวสาร ความรู้ และความบันเทิงได้อย่างสนุกสนานในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้แนวความคิดดังกล่าวยังเป็นการนำจุดเด่นของการศึกษาและความบันเทิงมาประสานประโยชน์ร่วมกัน นำเสนอเนื้อหาสาระในรูปแบบที่ผู้บริโภคต้องการ กระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจติดตาม แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องในหมู่ผู้บริโภคด้วยกัน และนำเนื้อหาสาระที่ได้รับไปสู่การปฏิบัติ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมในทางที่ดีขึ้น


3) Tailor-made (T) ได้แก่ การจัดรูปแบบการเสริมสร้างการรู้สารสนเทศให้เหมาะสมกับบุคคลแต่ละคน การตัดแต่งให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างในตัวบุคคลการเน้นความสำคัญของบุคคลจึงมีความสำคัญยิ่ง การคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นการตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งจากบุคลิกภาพ สติปัญญา ความสนใจ พื้นฐานความรู้ โดยผู้เรีย นมีอิสระในการควบคุมการเรียนรู้ของตนเอง รวมทั้งการเลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนได้ เช่น สามารถควบคุมทั้งเนื้อหา ลำดับของการเรียนรู้ และการฝึกปฏิบัติหรือการทดสอบ เป็นต้น การจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลทำให้แนวความคิดพื้นฐานทางการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปโดยมีผล ทำให้เกิดนวัตกรรมการศึกษาขึ้น หลายรูปแบบด้วยกัน



2. แนวคิด NET นำไปสู่รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Knowledge Adventure Zone

หรือ KAZ


การศึกษาเพื่อเสริมสร้างการรู้สารสนเทศ เป็นการใช้แนวคิด NET ซึ่งประกอบแนวคิดสำคัญ 3 ประการด้วยกัน คือ แนวคิดการทำงานแบบเครือข่าย (Net working) แนวคิดสาระบันเทิง (Edutainment) และ แนวคิดการจัดกิจกรรมโดยให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล (Tailor-made) ซึ่งเมื่อนำมาพัฒนาเป็นรูปแบบของกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมจะอยู่ในรูปของ Knowledge Adventure Zone หรือ KAZ ที่มีลักษณะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งให้ผู้ใช้วางแผนการเรียนรู้ของตนเอง ได้ค้นพบ แสวงหาความรู้อย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน โดยผู้ใช้ได้ข้อมูลสารสนเทศจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย อาทิ แหล่งความรู้ในโรงเรียน ชุมชน และโลกอิเล็คทรอนิกส์ โดยร่วมกิจกรรมปฏิสัมพันธ์อย่างสนุกสนาน (Fun Interactive Activities)
2.1 ขั้นตอนการดำเนินการจัด KAZ ในสถานศึกษา
KAZ มีลักษณะเป็น Mobile Unit ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปตามห้องสมุด ห้องเรียน หรือจุดต่างๆ ในโรงเรียนได้อย่างสะดวกและง่าย การดำเนินการจัด KAZ ในสถาบันการศึกษาต้องดำเนินการใน 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้ คือ
1) Orientation Stage ขั้นเรียนรู้และทำความเข้าใจ "KAZ" ความสำคัญของการเรียนรู้สารสนเทศ รวมทั้งการประเมินศักยภาพและความพร้อมของสถาบันในด้านวิชาการ อุปกรณ์ต่างๆ และแหล่งความรู้ในชุมชน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ต่อไป
2) Collaborative Stage ขั้นเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเป็นผู้บริหารระดับต่างๆ ครู และผู้ปกครอง รวมทั้งผู้เรียน ร่วมกันพัฒนาและประยุกต์ "KAZ" ให้เหมาะกับธรรมชาติและเอกลักษณ์ของกลุ่มเป้าหมาย และชุมชน ทั้งในเชิงเนื้อหาและวิธีการ
3) Implementation Stage ขั้นการทดลอง และลงมือปฏิบัติกิจกรรม "KAZ" เพื่อประเมินและปรับปรุงให้เหมาะสม
4) Reflective Stage ขั้นสรุปปัญหา และแก้ไข
5)Sustain and Expand Stage ขั้นขยายผลการปฏิบัติสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้อย่างแท้จริง


2.2 กิจกรรมการเรียนรู้ใน KAZ
กิจกรรมการเรียนรู้ใน ประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ ที่มีสื่อหลักเป็น Website ดังนี้ Website "KAZ" ประกอบด้วย
1) About Us (Objectives, News & Events)
2) Big 4 (Tutorials, Games, Test, Webquest)
3) Resources (Learning Guide, Links, Publications, Network, Case Studies)
4) Discussion
ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ระบบ On-line ได้ สามารถใช้ระบบ Off-Line เช่น CD-Rom นอกจากนี้ กิจกรรมการเรียนรู้สารสนเทศยังใช้สื่อเสริมคือ สื่อสิ่งพิมพ์ การเสริมสร้างการรู้สารสนเทศอีกด้วยจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบของ Knowledge Adventure Zone (KAZ) เป็นการผนวกกิจกรรมทั้งในโลกของ Electronic หรือ Cyber โดยผ่านการเดินทางเข้าสู่ Web-site "KAZ" ที่เป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมบน Web เช่น Webquest หรือ Computer Game ฯลฯ และการทำกิจกรรมในโลกของความเป็นจริง เช่น การทัศนศึกษา จากแหล่งการเรียนรู้ในชุมชน การเข้าร่วมกิจกรรมค่ายในลักษณะต่างๆ ที่เสริมสร้างการรู้สารสนเทศ โดยทั้งนี้ทั้งนั้น ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง จะเป็นผู้ร่วมทางการเรียนรู้ (Facilitator) ที่คอยสนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้อย่างแท้จริง


3. การใช้ประยุกต์ใช้ KAZ และ NETมาเป็นรูปแบบ (MODEL)เพื่อการเสริมสร้างการรู้สารสนเทศ


3.1 องค์ประกอบของ KAZ-NET MODEL
KAZ - NET MODEL ประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนของ Knowledge Adventure Zone (KAZ) และ ส่วนของ NET คือ N คือ Net working , E คือEdutainment และ T คือ Tailor-made ดังแสดงใน http://gotoknow.org/file/micorhiza/KAZNET.jpg



3.2 การใช้ประยุกต์ใช้ KAZ - NET MODEL

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนทั้ง 4 ด้าน คือรู้ทันรู้นำโลก เรียนรู้ชำนาญเชี่ยวชาญปฏิบัติ รวมพลังสร้างสรรค์สังคม และรักษ์วัฒนธรรมไทย ใฝ่สันติ ที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ทั้งในสถานศึกษา และภายนอกสถานศึกษา และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต นั้นเห็นได้ว่าการมีช่องทางในการหาความรู้ที่ถูกต้องจึงช่วยให้นักเรียนเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการ ดังนั้นการขับเคลื่อนให้นักเรียนมีความรู้ในแนวทางหนึ่งที่สถานศึกษาน่าจะนำมาปฏิบัติ คือ การสร้างเสริมให้นักเรียนรู้สารสนเทศ จะเป็นตัวช่วยให้นักเรียนได้เข้าถึงสารสนเทศได้อย่างไร้พรมแดนและสามารถประเมินสารสนเทศ และใช้สารสนเทศจากแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สถานศึกษาจัดให้ ดังนั้นสถานศึกษาต้องมีนโยบายในการส่งเสริมการรู้สารสนเทศ โดยการพัฒนาระบบสารสนเทศให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง เพราะจากปัญหาที พบปรากฏว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดแคลนระบบสารสนเทศทั้งด้านกายภาพ ด้านวิชาการ และด้านการบริหารและการจัดการ ซึ่งหากให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องลงทุนในด้านระบบสารสนเทศที่สมบูรณ์ ก็ย่อมทำให้ต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาล การนำ KAZ-NET MODEL ( http://gotoknow.org/file/micorhiza/KAZNET.jpg ) มาใช้ในการบริหารสารสนเทศในสถานศึกษาจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบันนี้เพราะรูปแบบของ KAZ-NET MODEL ใช้เทคนิคของเครือข่ายการเรียนรู้ เรียนสนุก เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นการหาพันธมิตรเพื่อร่วมมือในการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้สารสนเทศซึ่งเครือข่ายความร่วมมือ ก็จะมีทั้งในชุมชน และภายนอกชุมชน ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความสามารถไปประสานความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อดึงความช่วยเหลือในการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ต้องมีการวางแผนให้สามารถนำมาใช้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน และเน้นให้ผู้เรียนได้เรียน ได้ฝึกปฏิบัติจริง และสนุนสนานกับการเรียน ซึ่งต้องมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบของการท่องโลกกว้างที่ไร้พรมแดนโดยใช้ระบบสื่อคอมพิวเตอร์ ทั้งในรูปของ ซีดีรอม หรือระบบอินเตอร์เน็ตมาใช้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนุกและสามารถเรียนรู้สื่อที่มีสาระได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาหรือการดูงานในแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ก็เป็นการเรียนรู้สารสนเทศได้อีกทางหนึ่ง แต่ที่สำคัญครูผู้สอนและผู้ปกครองต้องมีคำแนะนำที่ถูกต้องในการเลือกใช้สารสนเทศ และต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้สารสนเทศตามความเหมาะสมของนักเรียนจึงจะทำให้การนำ KAZ-NET MODEL มาใช้ในสถานศึกษาจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง





เอกสารอ้างอิง
"ปัญจมศิลา NET : หลักการเสริมสร้างการรู้สารสนเทศสำหรับสังคมไทย เครือข่ายการเรียน รู้สนุก เหมาะสมกับแต่ละบุคลล".[ออนไลน์] . เข้าถึงได้จาก http://www.media.academic.chula.ac.th/edtrans/g5/g5_d.htm.

"การบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ"[ออนไลน์] .เข้าถึงได้จาก http://www.plk1.obec.go.th/iEMS/iEMS03.doc.


http://portal.in.th/inno-konkhon/pages/1606/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น